ม้าไทยในสวนเกษตร
สภาพของพืชสวนในประเทศไทยก่อนหน้านี้สักสิบห้าปีอาจกล่าวได้ว่ารับอิทธิพลครอบงำอย่างเต็มที่จากนักวิชาการที่ไปศึกษาการทำเกษตรแผนใหม่จากประเทศทางตะวันตก โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกษตรกรไทยปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่งเสริมการใช้ปุ๋ย ยาฆ่าหญ้าและศัตรูพืชในปริมาณมหาศาลเพื่อหวังผลการขายผลผลิตให้ได้เยอะๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถประสพผลสำเร็จในแง่ของเศรษฐกิจ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป เหล่าเกษตรกรไทยตาดำๆ เหล่านั้น กลับพบว่าการทำเกษตรในแนวทางดังกล่าวนั้นเป็นการสร้างความร่ำรวยให้แก่นายทุนที่จำหน่ายพันธุ์พืช ปุ๋ยและเน้นการสร้างผลงานทางวิชาการให้คนอื่นมากกว่าตัวเอง ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น ตนเองยังต้องซื้ออาหารที่ผู้อื่นผลิตมาบริโภคในครัวเรือน เช่น ชาวนาที่ปลูกข้าวอย่างเดียวแต่ต้องซื้อไก่หรือหมูมากิน ดังนั้น หลังจากที่ประสบปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวจนแทบเอาตัวไม่รอดแล้ว เหล่าเกษตรกรเหล่านี้จึงย้อนกลับมาทำสวนเกษตรแบบที่บรรพบุรุษเคยทำและอยู่รอดมาได้มาแต่ครั้งอดีต นั่นคือ มีการตั้งเป้าหมายว่าจะต้องดำเนินชีวิตอยู่ได้ภายในไร่นาสวนเกษตรหรือฟาร์มของตนเอง ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้แบบไม่ขาดแคลน ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ เหล่าเกษตรกรเหล่านี้จึงเกิดการตื่นตัวขึ้น โดยแทนที่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซื้อปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช เกษตรกรแต่ละรายจึงคิดหาวิธีทำสวนเกษตรแบบยั่งยืนหลากหลายรูปแบบขึ้นมาใช้ โดยแต่ละรายมักมีวิธีการคล้ายคลึงกันคือ ไม่ฝืนธรรมชาติแต่กลับพยายามเลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุด และมักจะเห็นว่าภายในสวนเกษตรจะมีทั้งพืชที่ใช้กินและนำไปใช้งานได้ มีแหล่งน้ำ มีสัตว์เลี้ยงเพื่อกำจัดวัชพืชและได้เนื้อเป็นอาหารหลังจากนั้นจึงนำมูลสัตว์มาทำปุ๋ย
เช่นเดียวกันกับก่อนหน้านี้ การเลี้ยงสัตว์ในสวนเกษตรเป็นข้อห้ามอย่างเด็ดขาดจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ เหตุผลหลักคือ สัตว์ที่เลี้ยงไว้อาจไปเหยียบย่ำทำลายต้นพืชเสียหาย โดยอาจลืมความจริงที่ว่า ก่อนหน้านี้นับล้านปี สัตว์และพืชเขาอยู่ร่วมกันมาในระบบนิเวศแบบเกื้อกูลกันมาก่อน ดังนั้น ในพื้นที่แปลงหนึ่ง หากมีการปลูกพืชยืนต้นเป็นระยะเวลานาน และมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เมื่อเก็บเกี่ยวในระยะนานปีเข้า แร่ธาตุในดินมีความอุดมสมบูรณ์น้อยลงก็จะส่งผลให้ผลผลิตลดน้อยลงในสัดส่วนเดียวกัน จึงจำเป็นอยู่เองที่เกษตรกรจะหันไปใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มาเร่งบำรุงต้นไม้ แต่ผลกระทบคือการใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณสูงจะส่งผลให้ดินเสื่อมความสมบูรณ์อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ก็มีข้อฉุกคิดว่า ในยุคปู่ย่าตายายของเรา ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยพบมาก่อนในเกษตรกรที่เลี้ยงควายไว้ใต้ถุนบ้านเพื่อจะนำขี้ควายไปเป็นปุ๋ย ดังนั้น เกษตรกรบางรายจึงทดลองนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาทดลองเลี้ยงในแปลงเกษตรแบบลองผิดลองถูกเพื่อหาทางออก อาทิเช่น สวนปาล์ม มะพร้าว ยางพารา กาแฟ มังคุด ทุเรียน เงาะ ลางสาด ลองกอง ส้ม รวมไปถึงสวนไม้ยืนต้นประเภทอื่น

การเลี้ยงม้าในแปลงยางพาราก็เป็นแนวทางหนึ่งจากหลายแนวทางที่กล่าวมาแล้วของเรา ในพื้นที่ของเราประมาณ 100 ไร่ เดิมทีมียางพาราอย่างเดียวเท่านั้น ถึงเวลาก็ซื้อปุ๋ยวิทยาศาสตร์มาใส่ปีละประมาณ 2 ครั้ง และเมื่อมีวัชพืชและต้นยางเล็กที่เกิดจากเมล็ดยางที่ร่วงโคนต้นงอกขึ้นมารกมากขึ้นก็ฉีดยาฆ่าหญ้าอีกอย่างน้อยปีละครั้ง ในการนี้จะต้องเสียเงินค่าปุ๋ยและยาประมาณปีละไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาท แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ สภาวะดินเสื่อมและแข็ง ต้นยางชะงักการให้น้ำยางเนื่องจากผลกระทบจากยาฆ่าหญ้าและสารเคมีประเภทดูดซึมอื่นๆ ผิวหน้าดินที่เคยมีต้นไม้พันธุ์พื้นเมืองปกคลุมก็หายไป รวมทั้งขี้ไส้เดือนที่เคยปรากฏอยู่ทั่วไปตามผิวดินก็เริ่มไม่มีให้เห็น พื้นผิวดินที่น้ำขังเมื่อน้ำแห้งไปจะแตกเป็นแผ่นเหมือนแผ่นกระเบื้องแตก
ในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นปีแรกที่เราเริ่มนำม้ามาเลี้ยงในสวนยางเพียงตัวเดียว ในสวนยางยังคงใช้ปุ๋ยและยาฆ่าหญ้าตามปกติ สถานะทางกายภาพทั่วไปของสวนจึงยังไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก จนต่อมาม้าเพิ่มจำนวนมากกว่าห้าตัวแล้วภายในสวนจึงเริ่มเกิดความสมดุลขึ้น กล่าวคือ ไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า และลดปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ ส่วนปุ๋ยเคมียังคงใช้อยู่แต่ลดลงกว่าครึ่งหนึ่งของที่ใช้เดิม ยางยังคงให้ผลผลิตสูงกว่าเดิม บริเวณผิวดินมีขี้ไส้เดือนปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป นอกจากนี้ ประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี ก็จะมีเห็ดต่างๆ อาทิเช่น เห็ดโคนขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามกองขี้ม้าและเศษไม้ยางที่ย่อยสลายไปแล้ว
นอกจากยางพาราแล้ว ในสวนของเรายังมีมะพร้าว มังคุด กาแฟ กล้วย ลูกเนียง ใบเหลียง ชะอม มันปู เตย ชะมวง ทำมัง (ธัมมัง) พริกไทย ตะไคร้ หญ้าแฝก ฯ ขึ้นงอกงามอยู่โดยทั่วไป พืชเหล่านี้จะอาศัยขี้ม้าที่มีอยู่ทั่วไปเป็นปุ๋ย โดยเฉพาะมะพร้าวและกาแฟนั้น แทบไม่ต้องบำรุงอะไรก็ยังออกลูกเต็มต้นตลอดเวลา ส่วนพืชอื่นๆ นั้น หากต้องการให้ได้ผลดีก็ต้องมีการล้อมรั้วไว้บ้าง และด้วยพืชอาหารเหล่านี้ ทำให้ปัจจุบัน คนงานที่ทำงานอยู่ในสวนยางนอกจากจะไม่มีรายจ่ายแล้วยังมีรายรับเพิ่มขึ้นจากการขายพืชผลเหล่านี้เป็นครั้งคราว
 
นอกจากพืชผลที่มีอยู่แล้ว ยังมีไก่ชนและไก่พันธุ์พื้นเมืองปล่อยให้หากินตามอิสระอยู่อีกกว่า30 ตัว ไก่เหล่านี้อาศัยอาหารจากม้าที่กินหกเรี่ยราด และเนื่องจากอาหารม้าของเรามีส่วนผสมจากรำละเอียด กากน้ำตาล กล้วยน้ำว้า และกากน้ำตาลเป็นหลัก โดยการอาศัยม้าเป็นผู้ผสมปุ๋ยให้เราก่อนถ่ายออกมา หลังจากนั้นไก้จะทำหน้าที่คุ้ยเขี่ยหาแมลงจากกองขี้ม้า โดยไม่ต้องเป็นภาระใดๆ ต่อผู้เลี้ยงเลย ที่สำคัญคือไก่เหล่านี้เป็นอาหารโปรตีนสำหรับคนสวนได้ในยามต้องการ
ผู้เขียนขอยืนยันว่า ในปัจจุบันนี้ ผลผลิตยางของเราไม่ลดน้อยลง มีแต่เพิ่มขึ้น จนคนกรีดยางออกปากว่า ไม่เคยกรีดยางที่ไหนได้น้ำยางเยอะเท่าที่นี่ แปลงยางของเรามีทั้งยางสายพันธุ์เก่า (PRIM 600) และยางสายพันธุ์ใหม่ (251) ยางพันธุ์เก่านั้นมีอายุกว่า 25 ปี แล้ว แต่ยังคงให้น้ำยางที่ดีมาก แม้ว่าหน้ายางแทบไม่มีให้กรีดแล้วก็ตาม ส่วนยางพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง
นอกจากพืชผลที่กล่าวแล้วทุกปีเรายังมีม้าที่จำหน่ายออกให้แก่เกษตรกรที่สนใจการเลี้ยงม้าแบบพอเพียงอยู่เรื่อยๆ และเนื่องจากเราไม่ได้เน้นการผลิตม้าอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพื่อแสวงหากำไรเหมือนอย่างที่ในขณะนี้มีการสั่งนำเข้าพ่อม้าพันธุ์ดีจากเมืองนอกเข้ามามากมาย และอีกไม่นานก็คาดว่าจะมีลูกม้าล้นจนเกินความต้องการ เนื่องจากการเลี้ยงม้าไม่ใช่งานง่ายที่ใครก็ทำได้ แต่ต้องมีใจรักเป็นพื้นฐาน อย่างไรก็ดี เราก็ยังหวังว่ากระแสที่เป็นอยู่คงไม่กระทบรุนแรงเหมือนเมื่อครั้งเกษตรกรนิยมเล่นวัวหูยาวกัน แต่หากเป็นดังนั้นก็ควรหาทางหนีที่ไล่กันไว้ก่อนจะปลอดภัย
สุดท้ายอยากจะขอสรุปว่า แม้การดำเนินการของฟาร์มเราในลักษณะของการเลี้ยงม้าในสวนยางกว่า 10 ปี แล้วก็ตาม ก็ยังไม่มีนักวิชาการคนใดออกมาให้การรับรองเราเลย แต่นั่นคงไม่ใช่ความคาดหวังของเรา เพียงหวังว่าจนทุกวันนี้และมีคนเลี้ยงม้าเยอะขึ้นขนาดนี้แล้ว หากภาครัฐยังคงไม่มีการสนับสนุนอะไรเลยก็ตาม แม้ว่าจะว้าเหว่ แต่เราก็ยังยินดีที่จะเป็นหัวหอกในการคิดใหม่ทำใหม่ให้ภาครัฐต่อไป อย่างไม่ย่อท้อ
|